รู้มั้ย... อบจ.เชียงรายมีอะไรน่าสนใจบ้าง
วันนี้เราไปชมอะไรบางอย่างบริเวณองค์การส่วนบริหารจังเชียงรายกันดีกว่าครับ เกริ่นแค่นี้แล้วผมเริ่มที่ "หอประวัติเมืองเชียงราย 750 ปี"
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ผมได้ทราบข่าวพิธีเปิด หอประวัติเมืองเชียงราย 750 ปี ซึ่งเป็นพิพิธภันฑ์ที่เล่าประวัติของเมืองเชียงรายได้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น หอนี้ เปิดขึ้นในโอกาสที่เมืองเชียงรายครบรอบ 750 ปีนั่นเองครับ รูปที่ถ่ายนี้เป็นด้านหน้าของหอครับ
สถานที่แห่งนี้ ตั้งอยู่ถนนอุตรกิจ ด้านหลังศาลากลางเก่า ตรงข้ามกับโรงเรียนอนุบาลเชียงราย ซึ่งใกล้กับ หอนาฬิกาเก่าและตลาดเทศบาล 1 ครับ
หอที่นี่เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องถอดรองเท้าเข้าไป และห้ามถ่ายภาพครับ ภายในสถานที่จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งยุคของเชียงรายนั้น เชียงรายถือเป็นยุคปฐมล้านนาครับ ภายในหอนี้มีอยู่ทั้งหมด 8 โซน แต่ละโซนนั้นจะเล่าเรื่องการก่อสร้างเมืองเชียงราย ซึ่งสถาปณาโดยท่านพญามังรายมหาราช และเข้าสู่ยุคต่าง ๆ จนถึงถูกพม่ายึดไป 200 ปี แล้วถูกกู้กลับรวมเข้าเป็นจังหวัดในประเทศไทยครับ ซึ่งจะมีสื่อประสมต่าง ๆ เล่าเรื่องให้ทันสมัยขึ้นครับ
ถ้าชมมาถึงโซนที่สาม ก็จะเป็นโซนเทียเตอร์ ถ้าหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมถึง 10 คนขึ้นไป ทางเจ้าหน้าที่จะเปิดแสดงภาพประวัติของการสร้างเมืองเชียงรายนั่นเองครับ เมื่อจบโซนสาม ก็จะมีการจัดแสดงรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครับ และมีรูปปั้นพญามังรายฯแบบสีสันสดใส สวยและงดงามอย่างมากครับ
หลังจากที่ชื่นชมประวัติศาสตร์ของเชียงรายแล้ว ก็จะมีรายละเอียดของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงรายทั้งหมด 18 อำเภอ และวัดต่าง ๆ ที่น่าสนใจในจังหวัดเชียงรายครับ เมื่อจบโซนที่เจ็ดแล้ว โซนแปดเป็นห้องสมุด ซึ่งอยู่ชั้นบนครับ
หอประวัตินี้ ใช้เวลาชมประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าได้ชมเทียเตอร์ก็จะเป็น 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งที่นั้นผมไม่ได้ดูครับ เพราะจำนวนคนไม่ถึง และถ้าใครมาที่จังหวัดเชียงราย ก็มาลองเข้าชมหอประวัติที่เล่าเรื่องของประวัติเมืองเชียงรายได้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นครับ เพราะที่นี่ห้ามถ่ายรูป ข้างในเป็นอย่างไร แวะไปดูเองนะครับ
แอบขอเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปตัวเองหน้าหอประวัติฯ เพื่อจารึกลงบล็อกตัวเอง (หัวเราะ) สังเกตด้านหลังของผมนะครับ ด้านขวาของผมคือ โรงเรียนอนุบาลเชียงราย และวัดที่อยู่ด้านหลังคือ "วัดกลางเวียง" หนึ่งในเส้นทาง 9 วัดเมืองเชียงรายครับ เป็นวัดที่มีศาลหลักเมืองอยู่ในวัดครับ ถ้าพูดถึงเสาสะดือเมืองจะเป็นวัดดอยงำเมืองครับ
ถ่ายรูปตัวเองเสร็จ ผมจึงเดินไปด้านหลัง ซึ่งเป็นศาลากลางเก่า ด้านหน้านี้มีอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 อยู่ครับ ตอนนี้ศาลากลางเก่า ได้ปรับปรุงเป็น "หอวัฒนธรรมนิทัศน์" ซึ่งเป็นห้องจัดนิทรรศกาลไว้อยู่ แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุงอยู่ครับ
ด้านขวาของศาลากลางเก่า มีห้องสมุดรถไฟเชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟเชียงราย เพราะจังหวัดเชียงรายยังไม่มีรถไฟใช้ครับ ในตอนนี้จังหวัดเชียงรายเรามีห้องสมุดรถไฟดังกล่าวครับ ภายในโบกี้รถไฟนั้น เป็นห้องสมุดครับ ห้องสมุดรถไฟเปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 9 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะเป็นเวลา 10 นาฬิกาถึง 19 นาฬิกาครับ
ถ้าหากเชียงรายมีรถไฟใช้ ก็จะแยกเส้นทางจากอุตรดิตถ์ ผ่านเด่นชัย (จังหวัดแพร่) ผ่านงาว (จังหวัดลำปาง) ผ่านจังหวัดพะเยาและเข้ามาที่จังหวัดเชียงรายครับ
ก่อนจบบทความนี้ผมมีแหล่งที่มาของการเปิดหอประวัติเชียงราย และโครงการรถไฟเชียงรายมาให้ดูกันด้วยครับ
หอประวัติเชียงราย 750 ปี
-อบจ.เชียงราย เปิดหอประวัติเมืองเชียงราย 750 ปีและเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ (เชียงรายโฟกัส)
- อบจ.เปิดหอประวัติเมืองเชียงราย 750 ปี (นสพ เชียงรายธุรกิจ)
โครงการรถไฟเชียงราย
- +++กระทู้ติดตามรถไฟเชียงราย ครับ.+++ (เวบบอร์ดเชียงรายโฟกัส)
- คืบหน้ารถไฟสายเด่นชัย-พะเยา-เชียงราย (พะเยารัฐ)
เรื่องราวของเชียงรายและสุพรรณบุรีนั้น ผมยังคงค้นหามาเรี่อย ๆ อย่าลืมติดตามบล็อกของผมในบทความต่อไปนะครับ