วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

สุพรรณบุรี....แห่งความหลัง (ตอนที่ 1: สามชุก)

สวัสดีครับ หลังจากที่ผมห่างหายไปนาน เนื่องจากต้องใช้เวลาพักผ่้อนหลังจากที่ได้จบการศึกษาอย่างเต็มที่ในปี 2555 เป็นปีที่ดีมากที่จังหวัเชียงรายนั้นครบรอบ 750 ปี หลังจากนั้นเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ลงไปหางานที่กรุงเทพฯ ซักระยะหนึ่ง แต่ทว่า เชียงรายยังคงมีงานหลาย ๆ อย่างที่อีกมากมาย และปลายเดือนนี้ผมจะกลับไปเชียงรายอีกครั้งหนึ่ง เผื่อจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานต่าง ๆ ของทางจังหวัด


และก่อนที่ผมจะกลับไปเชียงราย ผมก็มาแวะเที่ยวที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการพักผ่อนครับ ในหัวข้อ "สุพรรณบุรีแห่ง...ความหลัง" 



เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้มาเที่ยวสุพรรณบุรีเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2553 ซึ่งผมได้ลองไป ตลาดสามชุก ขึ้นหอคอยบรรหารฯ ไปดูมังกรสวรรค์ และไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ และปีนี้ ผมก็กลับมาเที่ยวซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง และแน่นอนว่า การมาเที่ยวอีกครั้ง ก็จะต้องเจออะไรที่เป็นการ "เปลี่ยนแปลง" แน่นอนครับ




และนี่คือตอนที่ 1 ตอน ตลาดสามชุก ตลาดร้อยปี ที่อำเภอสามชุกครับ ผู้คนใจดี มีของฝากมากมาย เมื่อผมเข้ามาในตลาดสามชุกแห่งนี้ หลังจากที่ถ่ายหน้าป้ายเสร็จ กลิ่นขนมจีบลอยมาแต่ไกล ทีแรกผมยังไม่ทันสังเกต ก็เลยเข้าใจผิดว่าผมจมูกเพี้ยนหรือเปล่า พอหันมามองก็พบกับป้าคนนี้ครับ ป้าขายขนมจีบกล่องละ 20 บาทครับ


ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสทานขนมจีบหลังจากที่ไม่ได้ทานมานานแล้ว ขนมจีบเจ้านี้ อร่อยครับ แต่ถ้าใส่น้ำจิ้มมากเกินไปอาจจะเปรี้ยวครับ




ตลาดสามชุกที่ผมมาในครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนครับ ที่ผมสังเกตได้คือบริเวณด้านซ้ายก็จะมีหลังคาสังกะสีติดอยู่ เพราะอากาศที่นั่นร้อนก็มีการสร้างเพิ่มเติมเล็กน้อย และมีพัดลมช่วยเป่าแม่ค้าด้วยครับ




ย้อนกลับไปสังเกตที่สะพานพรประชา ซึ่งสะพานก็มีการมุงหลังคนเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวโดนแดดครับ ซึ่งสะพานนี้ได้มีการมุงหลังคาตั้งแต่ปี 2554 มาแล้วในครั้งที่ผมไปบึงฉวากนั่นเองครับ




ตอนที่ผมมาตอนนั้นก็เที่ยงแล้ว ผมรีบเดินดิ่งตรงไปยังร้านอาหารด้านในของตลาด ก็พบการก่อสร้างใหม่ ผมได้ไปคุยกับแม่ค้าที่ร้านอาหาร ผมก็ได้คำตอบว่า อาคารไม้เดิมนั้นได้ทรุดตัวลง จึงมีการสร้างใหม่ และก็สร้างให้คล้ายกับของเดิม ผมรู้สึกประทับใจในการอนุรักษ์ของทางตลาดครับ ถึงแม้ไม้เดิมจะต้องสึกหรอไปตามกาลเวลา เมื่อสร้างไม้ใหม่ก็มีการสร้างให้เหมือนกับของเก่าแบบนี้ล่ะครับ คราวหน้าผมก็จะได้เห็นการปรับเปลี่ยนใหม่ของที่นี่ครับ




หลังจากที่ผมได้รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เดินดูภายในตลาดสามชุก ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เนื่องจากวันนี้เป็นวันธรรมดา ทำให้ตลาดดูบางตาไปเล็กน้อย แต่ก็เดินคล่องดีครับ และภาพที่เห็นด้านบนตรงนี้ก็คือ.... กุนเชียงเนื้อปลาสลิดร้านลุงพงษ์-ลงพุงครับ เป็น OTOP ที่มาจากอำเภอศรีประจันต์ แล้วมาขายที่ตลาดสามชุกแห่งนี้ด้วยครับ ผมจำได้ว่าสินค้านี้ได้เคยเอาไปขายที่งานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งามครั้งที่ 8 ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี่เองครับ รสชาติอร่อยใช้ได้ครับ แล้วซื้อมาให้แม่เอาไปทำเป็นกุนเชียงทอด กินกับข้าวต้มแล้วอร่อยมาก ๆ ครับ ถึงยังไงก็เอามาขายให้ชาวเชียงรายอีกในครั้งที่ 9 ด้วยนะครับ




ต่อมา ผมก็มาแวะเที่ยวชม "โรงแรมอุดมโชค" เป็นโรงแรมเก่าแก่ที่เคยทีั่คนสมัยก่อนที่มาขายของแล้วแวะพักค้างคืน แล้วก็เลือกมาพักค้างคืนที่โรงแรมที่นี่ ปัจุจันเปิดให้เข้าชมอย่างเดียวครับ โรงแรมนี้มีโรงภาพยนตร์เล็กด้วยครับ ที่เห็นในภาพคือที่จำหน่ายบัตรเข้าชมโรงภาพยนตร์ และรูปที่อยู่ใกล้ ๆ กันก็เป็นใบปิดภาพยนตร์ในสมัยนั้นด้วยครับ


และผมก็ได้ไปเที่ยวชมในจุดต่าง ๆ ในตลาด มาแวะดับกระหายที่บ้านโค้ก และเที่ยวชมสิ่งต่าง ๆ และปิดท้ายด้วยชื่อร้านอาหารที่ชวนสังเกตคือ ร้านบหมี่สามสี ที่เขียนสโลแกนว่า "มาถึงสามชุกต้องกินบะหมี่สามสี" ผมเลยถามเจ้าของร้านว่า แล้วอีกสีนั่นหมี่อะไร ผมก็ได้คำตอบว่า มีมีเหลือง หมี่ยก และก็ "หมี่งาดำ" ครับ แต่น่าเสียดายเพราะผมทานข้าวมาแล้ว ไว้คราวหน้า ผมจะมาลองแวะชิมร้านนี้ดูครับ


หลังจากที่ผมเที่ยวสามชุกแล้ว ผมก็ได้ข้อคิดดี ๆ อย่างหนึ่งคือ "การอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม" เพราะชาวสามชุก ได้อนุรักษ์อาคารบ้านเรือนและวิถีชีวิตชุมชนและสังคมอย่างจริงจัง ให้สมกับรางวัล UNESO ที่ได้มา เหมือนกับจังหวัดเชียงรายที่หลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญและอนุรักษ์วัฒธรรมของเชียงราย ให้สมกับการฉลองครบรอบ 750 ปีนั่นเอง


ต่อให้สถานที่ท่องเที่ยวนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ "การอนุรักษ์ และคงรักษาให้คนรุ่้นหลังได้เรียนรู้"


สำหรับการเที่ยวสามชุกก็จบลงเพียงเท่านี้ และผมก็นั่งรถเข้าจังหวัดสุพรรณุบรีต่อไปครับ